สพฐ. ร่วมมือ JICA สร้างเวทีให้นร.แสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยี

สพฐ. ร่วมมือ JICA สร้างเวทีให้นร.แสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยี

ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้เป็นประธานเปิดการแข่งขัน Thailand-Japan Game Programming Hackathon 2022 (TJ-GPH2022) รอบคัดเลือกประเทศไทย (Preliminary round) ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี มีผู้เข้าร่วมแข่งขันจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเฟ้นหาสุดยอด 3 ทีมชนะเลิศเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศกับสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเดือนธันวาคม 2565

ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่น่าส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนของเราเข้าร่วมอย่างยิ่ง โดยเกิดขึ้นจากกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่นหรือ JICA ในการจัดส่งอาสาสมัคร JOCV ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มาประจำที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นครูผู้ช่วยสอนในรายวิชาคอมพิวเตอร์และรายวิชาที่เกี่ยวข้อง

จากความสำเร็จของความร่วมมือดังกล่าว อาสาสมัคร JOCV ได้คิดริเริ่มการจัดกิจกรรมการแข่งขันการออกแบบเกมส์ด้วยโปรแกรม Unity ขึ้น ภายใต้ชื่องาน Thailand-Japan Game Programming Hackathon ระหว่างนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และนักศึกษาสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความสนใจด้านการเขียนโปรแกรมผ่านการพัฒนาเกมของนักเรียน การพัฒนาการรับรู้ผ่านการมีส่วนร่วมในการแข่งขันระดับนานาชาติ และการส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้การเขียนโปรแกรมและนำเสนอผลงานเป็นภาษาอังกฤษ

เพื่อต่อยอดความสามารถและเตรียมความพร้อมสู่การเป็นวิศวกรที่จะก้าวไปสู่ระดับสากลต่อไปในอนาคต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก

ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช

สำหรับการจัดการแข่งขัน Thailand-Japan Game Programming Hackathon ในปี 2022 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยรอบคัดเลือกของประเทศไทย (Preliminary round) ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 ตุลาคม 2565 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี โดยในปี 2022 การออกแบบเกมส์จัดขึ้นภายใต้หัวข้อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ SDG ที่ 13 หัวข้อ Climate Action มีระยะเวลาในการออกแบบเกมด้วยโปรแกรม Unity ภายในเวลา 3 วัน รวมจำนวน 24 ชั่วโมงและนำเสนอผลงานเกมส์เป็นภาษาอังกฤษ

ผลการแข่งขันปรากฏว่า

ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่ ทีม PPNITY เป็นทีมนักเรียนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง ปทุมธานี ลพบุรี และเลย

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีม ZA BOIZU เป็นทีมนักเรียนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก เชียงราย ปทุมธานี และบุรีรัมย์

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ทีม UNIQUE เป็นทีมนักเรียนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช พิษณุโลก ลพบุรี และสตูล

“ขอชื่นชมนักเรียนทุกคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาต่อยอด จากการเรียนรู้ตามแนวทาง Active Learning ในห้องเรียน นักเรียนได้คิดจากโจทย์ปัญหาที่ให้ นำไปสู่การ Create เป็นเกม จากผู้เล่น เป็นผู้สร้างเกม เพื่อเป็นแนวทางสร้างอาชีพและสร้างมูลค่าเพิ่มจากความคิดของนักเรียนไปสู่การพัฒนาเกมส์ที่สามารถใช้งานได้จริง ทุกคนเข้ามาเล่นได้ ซึ่งเป็นการสร้างมิติใหม่ให้กับนักเรียนหรือคนอื่นๆ ที่ชื่นชอบเกมส์ได้ทดลองเล่น อีกทั้งหัวข้อของโจทย์ในวันนี้ยังเป็นการร่วมรณรงค์การลดภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นธีมสำคัญของการพัฒนาเกมส์ในปีนี้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ จึงขอแสดงความยินดีกับทีมที่ชนะในวันนี้ ซึ่งจะเป็นทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันกับประเทศญี่ปุ่นในช่วงปลายปี ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จและสร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่าเด็กไทยของเราเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก ส่วนนักเรียนที่เป็นตัวแทนโรงเรียนก็เป็นที่ภาคภูมิใจของครู ทีมงาน กรรมการทุกคน เพราะทุกคนมีผลงานที่ดีและหลากหลาย รวมทั้งได้รับโอกาสในการเรียนรู้การทำงานเป็นทีม” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ parcours-aerien.com

UFA Slot

Releated